วรรณคดีเรื่อง “อิเหนา” มีบ่อเกิดมาจาก “นิทานปันหยี” อิเหนาสำนวนแรกของไทยปรากฏขึ้นในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕-๒๓๐๑) เล่าโดยหญิงข้าหลวงมลายู หลังจากนั้นพระราชธิดาองค์โตได้ทรงพระนิพนธ์บทละครในเรื่อง “ดาหลัง” (อิเหนาใหญ่) พระราชธิดาองค์เล็กทรงพระนิพนธ์บทละครในเรื่อง “อิเหนา” ทั้งสองเรื่องตกทอดมายังสมัยรัตนโกสินทร์
มีการปรับแต่งในส่วนที่ขาดหายไป และได้ถูกยกย่องว่า “มีความสมบูรณ์ดีเลิศทั้งในด้านวรรณศิลป์และนาฎศิลป์” ในรัชกาลที่ ๒ บทละครอิเหนา แสดงให้เห็นถึงอานุภาพของความรัก อำนาจของโชคชะตาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ลิขิตชีวิตมนุษย์ อีกทั้งผู้อ่านยังได้ศึกษาขนบประเพณีไทยแต่โบราณ เช่น ประเพณีสมโภชลูกหลวง, ประเพณีโสกันต์, ประเพณีการพระเมรุ, ประเพณีรับแขกเมือง ฯลฯ รวมถึงฉายภาพชีวิตของชนชั้นสูงในพระบรมมหาราชวังและชีวิตประชาชนคนไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างละเอียด
การจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้ถือเอาฉบับกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณตรวจชำระเป็นหลัก แต่เปลี่ยนตัวสะกดตามอักขรวิธีปัจจุบัน ยกเว้นคำภาษาโบราณบางคำที่จำเป็นต้องรักษาไว้ เช่น กรด (กลศ) กรรเจียกจร (กรรเจียกจอน) เคล่าคล่อง (แคล่วคล่อง) เป็นต้น อีกทั้งชื่อตัวละครไม่ตรงกันหลายแห่ง จึงถือเอาคำที่เห็นว่าพิมพ์เหมือนกันเป็นจำนวนมากว่าเป็นคำศัพท์ที่ถูก วรรณคดีเรื่องอิเหนา “นับเป็นอมตะของไทยที่ทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์ ยากจะมีเรื่องใดเสมอเหมือน เนื้อเรื่องสนุกสนานสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน ได้ทุกยุคทุกสมัยอีกด้วย”