“สามเกลอ” ตอน เกาะมัจจุราช พิมพ์ครั้งที่2 แต่เป็นฉบับรวมเล่มครั้งแรก เป็นตอนที่ไม่เคยรวมเล่มมาก่อน พิมพ์ครั้งแรกเขียนเป็นตอนๆ ตอนละ 4 หน้าลงในนิตสาร”เด็กก้าวหน้า”เล่มที่ 61 จนถึงเล่มที่ 100 ทั้งหมด 39 เล่ม เป็นนิยายสามเกลอแบบยาวเรื่องสุดท้ายของป.อินทรปาลิต อย่างแท้จริง เขียนจบในปี 2510 หลังจากผลงานฉบับนี้ ท่านก็ไม่ได้เขียนอะไรอีกเลย จนเสียชีวิตในเดือนกันยายน พ.ศ. 2511
ป.อินทรปาลิต เป็นนามปากกาของ ‘ปรีชา อินทรปาลิต’ พล นิกร กิมหงวน ถือเป็นหัสนิยายที่มิใช่นวนิยายตามขนบที่เรารู้กัน หรือเรื่องสั้นที่มีตอนจบในตัวเอง แต่เป็นเรื่องแต่งที่สะท้อนภาพชีวิตของสังคม ของยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า สามเกลอคือเรื่องราวที่ลำดับภาพสังคมไทยในช่วง 30 ปี ระหว่าง 2482 – 2511 สะท้อนทั้งเหตุการณ์ บรรยากาศ และรวมถึงสิ่งแวดล้อม แทบจะพูดได้ว่าเกือบทุกด้านของสังคมไทยในยุคนั้น จากการเขียนงานทั้งหมดกว่า 1,000 ตอนของสามเกลอนั้น หาได้มีคุณค่าเพียงแค่การสร้างเสียงหัวเราะ หรือรับรู้ถึงความสุนกครื้นเครงเท่านั้น แต่ยังเป็นวรรณกรรมที่ต้องศึกษาและควรจดจำ นับได้ว่าเป็น “1 ใน 100 เล่มที่คนไทยต้องอ่าน” อาจจะเป็นเพราะหัสนิยายเรื่องนี้ คือ”ประวัติศาสตร์มีชีวิต” และเป็น “ประวัติศาสตร์เชิงความรู้สึก” ของผู้คนในยุคสมัยที่น่าสนใจที่สุดในห้วงประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย ผ่านสงครามโลกครั้งที่ ๒ การปกครองระบอบกึ่งประชาธิปไตยในระบอบทหาร ไปจนถึงการรุกรานของคอมมิวนิสต์และสงครามเย็น อันเป็นยุคสมัยที่อาจจะถือได้ว่าส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบันมากที่สุด ทั้งในแง่ของสังคม วัฒนธรรมและแม้กระทั่งรูปแบบการเมือง