รุไบยาต ถือเป็นบทกวีที่มีลีลาอันไพเราะ เปรียบเปรยศาสนาในยุคสมัยนั้น ได้เชิญชวนมนุษย์ให้รีบออกมาหาความสนุกสนาน ความสบายต่างๆ ที่เกิดในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเสพสุขจากรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ต้นฉบับเป็นบทกวีภาษาเปอร์เซีย แต่งโดย โอมาร์ คัยยาม ค.ศ. 1048 – ค.ศ. 1131 นอกจากจะเป็นบทกวีที่มีความไพเราะแล้ว ยังแสดงถึงคุณค่าทางปรัชญาชีวิตอันลึกซึ้ง รวมถึงความคิดความเชื่อในชีวิต จึงกลายเป็นวรรณคดีที่ต้องอ่านแล้วคิดตาม ทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง
ในส่วนฉบับภาษาไทย “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์” ได้ยึดจากฉบับภาษาอังกฤษของเอ็ดเวิร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์ แล้วทรงพระนิพนธ์ฉบับภาษาไทยเป็นคนแรกด้วยโคลงสี่สุภาพ จำนวน 204 บท พร้อมบทร้อยกรอง 92 บท เพื่อประกอบภาพ 138 ภาพ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เป็นบรรณาธิการ ผู้ชำระต้นฉบับใหม่ นักอ่านจะสัมผัสได้ถึงความสละสลวยในตัวอักษร และยังได้แง่คิดเชิงปรัชญาที่แฝงไว้ในโคลงสี่สุภาพ หรือในบทร้อยกรองที่ลุ่มลึกอย่างท้าทายนักอ่าน