ไม่ว่าจะยุคสมัยใด มนุษย์มักเรียกร้องหาความเป็นธรรม เหตุเพราะมีความไม่เป็นธรรม การฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดในสังคมไทยอยู่เสมอ “นักสิทธิ์” นักการเมืองท้องถิ่นโดนเล่นงานว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งที่ความเป็นจริงเขาเป็นเพียง “แพะรับบาป” จนต้องหนีจากสังคมไปอยู่กับพวกชาวกะเหรี่ยง และทำให้เขาเกิดการต่อต้านสังคมการเมืองเป็นอย่างมาก
“ภวานี ปิยรมณีย์” ครูสาวรุ่นใหม่ไฟแรงดีกรีนักเรียนนอกจบจากประเทศฝรั่งเศส ผู้มีอุดมการณ์ที่เที่ยงตรงได้กลับมาเป็นครูที่จังหวัดรัตนบุรี ทำให้เธอพบปัญหานานาประการที่ไม่ชอบมาพากล จากคนอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งคนใกล้ชิดคือ “อำพัน” ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ซึ่งเป็นลุงของเธอเอง รวมไปถึงครู-อาจารย์ที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดที่เธอสอนอยู่
บุคคลเหล่านี้มองเธอเป็นคน “แปลกแยก” เพราะเธอต่อต้านโต้แย้งในทุกเรื่องที่ไม่เป็นธรรม “นายศิวะ” นักธุรกิจที่ทำความดีแค่เบื้องหน้า ส่วนเบื้องหลังได้ติดสินบนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับสัมปทาน ประมูลการทำถนน เดินรถสองแถว สร้างศูนย์การค้า โดยขับไล่โรงเรียนให้ไปอยู่เขตนอกเมือง นับเป็นประเด็นที่ทำให้ภวานีทนไม่ได้ เธอพยายามต่อสู้เพื่อลดช่องว่างสังคม แต่ก็ไม่สามารถทำสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม…ตัวเธอเองก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะไม่ละทิ้งในอุดมการณ์ เพราะเธอมีผู้ร่วมอุดมการณ์อีกหนึ่งคน ที่จะไม่ทิ้งให้เธอต่อสู้ไปคนเดียว คือ นักสิทธิ์ “เขาและเธอ” จะอยู่ในโลกที่เขาตีวงกั้นตัวแบบนี้ตลอดไปหาได้ไม่ แม้ว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมจะทำให้เขาต้องเจ็บแค้นขมขื่น และต้องยอมนิ่ง มองดูความอยุติธรรมในบางครั้ง ทั้งที่เกิดแก่ตัวเขาเองและผู้อื่น เพราะเขาเกิดมาเป็นมนุษย์ มีใครคนหนึ่งเคยให้คำนิยามไว้ว่า “สัตว์สังคม” ซึ่งหากใครฉลาดกว่า สามารถเอาเปรียบผู้อื่นได้มากกว่า ก็ดูเหมือนจะอยู่ได้อย่างสุขสบายมากกว่า จริงแท้หรือไม่?…